แนวทางบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม

โรงไฟฟ้าขนอมมีความมุ่งมั่นในการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม อันประกอบด้วย อากาศ น้ำ ของเสีย เสียงและระบบนิเวศที่อยู่รอบข้างให้มีคุณภาพที่ดี ตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมและมาตรฐานสากล เพื่อเป็นที่ยอมรับของชุมชน และสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

โรงไฟฟ้าขนอมมีการบริหารจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุมถึงการป้องกันและการกำจัดมลพิษ การเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมทั้งในโครงการและในชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยมีการรายงานข้อมูลการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อม และมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ให้กับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทุก 6 เดือน รวมถึงมีการรายงานผลการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมแบบต่อเนื่องไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรมด้วย นอกจากนี้ ยังมีการนำระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐาน ISO 14001 มาใช้เสริมประสิทธิภาพการจัดการให้มีประสิทธิผลยิ่งขึ้น

โรงไฟฟ้าขนอมใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า และใช้น้ำมันดีเซลกำมะถันต่ำเป็นเชื้อเพลิงสำรอง นับตั้งแต่เดินเครื่องโรงไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2559 ยังไม่มีการใช้น้ำมันดีเซลในการผลิตไฟฟ้าเลย นอกจากใช้ทดสอบในช่วงสั้นๆ เท่านั้น ทั้งนี้ ในระหว่างการผลิตไฟฟ้านั้น โรงไฟฟ้าขนอมใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงในการจัดการคุณภาพอากาศ และมีการตรวจวัดปริมาณมลสารที่ปล่อยออกมาสู่บรรยากาศตลอดเวลา รวมถึงมีการรายงานข้อมูลแบบต่อเนื่องไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรมและจอแสดงผลที่ตั้งอยู่หน้าโรงไฟฟ้าอีกด้วย

การเฝ้าระวังคุณภาพอากาศในบรรยากาศทั่วไป

โรงไฟฟ้าขนอม ดำเนินการตรวจวัดคุณภาพอากาศในบรรยากาศอย่างต่อเนื่องใน 2 ช่วงเวลา คือ เดือนมีนาคมและกันยายน จำนวน 5 สถานี ประกอบด้วย

  1. สถานีอาคาร On-land โรงไฟฟ้า
  2. สถานีบ้านพักพนักงาน (ริมรั้วโรงไฟฟ้า)
  3. สถานีโรงเรียนบ้านท่าม่วง
  4. สถานีที่ว่าการอำเภอ
  5. สถานีวัดเจดีย์หลวง

การตรวจวัดมลสารต่างๆ ประกอบด้วย ค่า NO2, SO2, ฝุ่น PM10 และฝุ่นรวม TSP พบว่า ค่าต่างๆ ดังกล่าวมีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทั้งหมด นอกจากนั้นแล้ว ด้วยสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในบรรยากาศที่มีค่าเกินมาตรฐานในหลายพื้นที่ของประเทศ ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจและการดำรงชีวิตของชุมชนนั้น โรงไฟฟ้าขนอมจึงได้ตรวจวัดค่าปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 เป็นประจำทุกปีด้วย ทั้งนี้ จากผลการตรวจวัดพบว่าค่าปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 มีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเช่นกัน

น้ำที่ผ่านการใช้งานในกระบวนการผลิตแล้ว จะถูกนำไปบำบัดแบบแยกประเภท เพื่อจัดการคุณภาพน้ำแต่ละประเภทอย่างเหมาะสม โดยน้ำทิ้งที่่ผ่านการบำบัดแล้วบางส่วนจะถูกนำกลับไปใช้ซ้ำ เช่น ใช้ในการรดน้ำต้นไม้ในพื้นที่ ปริมาณน้ำที่เหลือหลังจากการนำไปใช้ใหม่และใช้ซ้ำจะถูกปล่อยลงสู่แหล่งธรรมชาติ

ระบบการบำบัดที่ใช้ในโรงไฟฟ้าขนอม

นอกจากนั้น ในโรงไฟฟ้ายังมีบ่อพักน้ำทิ้งสุดท้ายเพื่อรวบรวมน้ำเสียจากจุดต่างๆ ซึ่งสามารถกับเก็บน้ำทิ้งไว้ได้มากกว่า 1 วัน และมีการตรวจสอบคุณภาพก่อนปล่อยออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ซึ่งนอกจากมีการเก็บตัวอย่างน้ำวิเคราะห์ทุกเดือนแล้ว ยังมีการตรวจสอบค่าซีโอดีของน้ำและรายงานผลผ่านระบบออนไลน์ไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรมก่อนปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติภายนอกโรงไฟฟ้าอีกด้วย

โครงการน้ำทิ้ง 1
โครงการน้ำทิ้ง 2

โรงไฟฟ้าขนอมมุ่งเน้นการจัดการของเสียด้วยมาตรการ 3Rs เพื่อนำของเสียหรือวัสดุที่ยังสามารถใช้ซ้ำหรือนำส่งไปรีไซเคิลได้ ให้กลับเข้าสู่กระบวนการผลิตและการใช้ประโยชน์อื่นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังคงพิจารณาเลือกวิธีการกำจัดของเสียที่หลีกเลี่ยงการฝังกลบให้มากที่สุด เช่น การนำไปเป็นวัตถุดิบผสมในการผลิตผลิตภัณฑ์อื่นๆ หรือการนำไปเผาในเตาเผาเพื่อให้ได้พลังงานที่สามารถนำไปดำเนินการผลิตอื่นๆ ได้ ซึ่งเป็นการช่วยป้องกันไม่ให้ของเสียจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งในด้านการปนเปื้อนสู่ดิน แหล่งน้ำผิวดิน หรือแหล่งน้ำใต้ดิน รวมถึงห่วงโซ่อาหารด้วย

แหล่งกำเนิดเสียงในกระบวนการผลิตที่สำคัญมาจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ปั๊มสูบน้ำ หรือกิจกรรมงานบำรุงรักษาต่างๆ ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าได้ติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันเสียงครอบเครื่องจักรหลักของโรงไฟฟ้าไว้อย่างรัดกุม พร้อมติดตั้งอุปกรณ์เก็บเสียง (Silencer) สำหรับอุปกรณ์ที่อาจก่อให้เกิดเสียงดัง และกำหนดมาตรการป้องกันเสียงให้กับผู้ปฏิบัติงาน ด้วยการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายด้านเสียงอย่างครบถ้วน รวมทั้งตรวจวัดระดับเสียงเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานที่กำหนดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ปฏิบัติงานและชุมชนไม่ได้รับผลกระทบจากเสียงของโรงไฟฟ้า

การปิดคลุมอุปกรณ์หลัก
Silensor