ประวัติองค์กร

โรงไฟฟ้าขนอม เดิมเป็นโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต่อมาในปี 2538 บริษัท ผลิตไฟฟ้าขนอม จำกัด ได้รับโอนทรัพย์สินและโรงไฟฟ้าขนอมหน่วยที่ 1, 2 และ 3 มาดำเนินการในรูปแบบของโรงไฟฟ้าเอกชนประเภทผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระรายใหญ่ (IPP) และถือเป็นโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ที่สุดในภาคใต้ ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 484 ไร่ บริเวณปากน้ำขนอม อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ปัจจุบันโรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 4 เริ่มเดินเครื่องจ่ายไฟเชิงพาณิชย์เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2559 มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement - PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 930 เมกะวัตต์ เป็นระยะเวลา 25 ปี

โรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 4 ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า โดยมีสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) จากแหล่งผลิตในอ่าวไทย มีการวางท่อจากแหล่งผลิตมาถึงโรงไฟฟ้าโรงแยกก๊าซขนอมของ ปตท. เป็นระยะทาง ประมาณ 160 กิโลเมตร โดยโรงไฟฟ้าขนอมจะรับก๊าซธรรมชาติจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติขนอม ผ่านสถานีวัดปริมาตรก๊าซ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณตอนเหนือของโรงไฟฟ้าขนอม และระบบส่งก๊าซนี้จะเพียงพอต่อความต้องการของโรงไฟฟ้าสูงสุดประมาณ 230 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันที่ความสามารถในการผลิตสูงสุดของโรงไฟฟ้า (Maximum Load)

ย้อนอดีตโรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 1-3

โรงไฟฟ้าขนอม ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าซึ่งแยกตามลักษณะและวิธีการผลิตออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังความร้อน และ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม

โรงไฟฟ้าพลังความร้อนขนอม หน่วยที่ 1(Khanom Thermal Power Plant Unit 1)

กฟผ. ได้ดำเนินการสำรวจและจัดทำรายงานการศึกษาความเหมาะสมของโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนขนอม หน่วยที่ 1 แล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2521 ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2522 ส่วนงานก่อสร้างในบริเวณที่ตั้ง เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2522 ส่วนการก่อสร้างตัวเรือและโรงไฟฟ้าจากประเทศญี่ปุ่นแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2523 ใช้เรือลากจูงจากประเทศญี่ปุ่นมาติดตั้งที่อำเภอขนอม ระยะทาง 3,000 ไมล์ทะเลใช้เวลาเดินทาง 18 วัน มาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2523 และนำเข้าติดตั้งบนแท่นที่เตรียมไว้แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2523 จากนั้นได้ทำการทดสอบอุปกรณ์ต่างๆ และทดสอบเดินเครื่องจนสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบได้เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2524 โดยมีกำลังผลิตติดตั้ง 75 เมกะวัตต์

ในปัจจุบัน โรงไฟฟ้าพลังความร้อนขนอม หน่วยที่ 1 ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าเรือลอยน้ำแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศ ได้รับการพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม (Khanom Learning Center) เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนด้านพลังงานไฟฟ้าและกระบวนการผลิตไฟฟ้า สำหรับเยาวชน ชุมชน และประชาชนทั่วไป โดยเริ่มเปิดดำเนินการให้เข้าเยี่ยมชมได้ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2562 เป็นต้นมา

โรงไฟฟ้าพลังความร้อนขนอม หน่วยที่ 2 (Khanom Thermal Power Plant Unit 2)

สำหรับงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนขนอม หน่วยที่ 2 เป็นโครงการเร่งด่วนของ กฟผ. ที่นำเสนอไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 เพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคใต้ และได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2529 งานก่อสร้างตัวเรือและงานติดตั้งอุปกรณ์โรงไฟฟ้าจากประเทศเกาหลี ได้เริ่มดำเนินการในเดือนมิถุนายน 2530 ทำการบรรทุกโรงไฟฟ้าบนเรือขนส่งขนาดใหญ่มายังประเทศไทยและนำเข้าติดตั้งในพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 1 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2531 จากนั้นได้ทำการก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์ส่วนที่ยังไม่แล้วเสร็จต่อทดสอบเดินเครื่อง และสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบได้เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2532 โดยมีกำลังการผลิตติดตั้ง 75 เมกะวัตต์

จากความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าของประเทศได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต่อมาในปี 2533 กฟผ. จึงได้วางแผนงานเพื่อสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดยเสนอโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมขนอมในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2534 คณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการฯ เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2534 ทั้งนี้  โรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 2 ได้ถูกรื้อถอนออกไปแล้วเมื่อปี 2563 เนื่องจากสัญญาซื้อ ขายไฟฟ้ากับ กฟผ. ได้สิ้นสุดลงในเดือนมิถุนายน 2559

โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมขนอม หน่วยที่ 3 (Khanom Combine Cycle Power Plant Unit 3)

โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมขนอม หน่วยที่ 3 ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันกับที่ตั้งโรงไฟฟ้าพลังความร้อนขนอม หน่วยที่ 1 และ 2 มีเนื้อที่ในการก่อสร้างประมาณ 30.5 ไร่ สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เฉลี่ยปีละ 3,154 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง ประกอบด้วยเครื่องผลิตไฟฟ้าทั้งหมด 5 เครื่อง โดยแบ่งเป็นเครื่องผลิตไฟฟ้าแบบกังหันก๊าซจำนวน 4 เครื่อง และแบบกังหันไอน้ำจำนวน 1 เครื่อง รวมกำลังผลิตติดตั้งทั้งสิ้นประมาณ 674 เมกะวัตต์

โรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 3

ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก และใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงสำรอง นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้า จึงได้ถูกออกแบบให้นำความร้อนจากไอเสียร้อนของเครื่องกังหันก๊าซทั้ง 4 เครื่อง เป็นพลังความร้อนในการต้มน้ำ ให้กลายเป็นไอน้ำที่มีแรงดันสูงไปขับดันเครื่องกังหันไอน้ำเพื่อเป็นต้นกำลังสำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า โรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 3 จะถูกรื้อถอนออกไป เนื่องจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. ได้สิ้นสุดลงในเดือนมิถุนายน 2559

โรงไฟฟ้า ปีที่เริ่มก่อสร้าง เดินเครื่องเชิงพาณิชย์ หมดอายุสัญญา กำลังผลิตติดตั้ง
โรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 1 2522 (1979) 2524 (1981) 2554 (2011) 75 เมกะวัตต์
โรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 2 2529 (1986) 2532 (1989) 2559 (2016) 75 เมกะวัตต์
โรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 3 2534 (1991) 2537 (1994) 2559 (2016) 674 เมกะวัตต์
โรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 4 2556 (2013) 2559 (2016) 2584 (2041) 970 เมกะวัตต์